|
|
พิพิธภัณฑ์หนองขาว

ถนนสายที่เชื่อมระหว่างกาญจนบุรีกับอำเภอพนมทวน มีตำบลหนองขาว ตั้งอยู่ระหว่างทาง หากผู้คนที่ผ่านไปไม่เคยรู้จัก “บ้าน” แห่งนี้มาก่อน อาจพานเข้าใจผิดได้ว่า กำลังผ่านอำเภอขนาดย่อม ด้วยว่าขนาดบ้านเรือนที่มีอยู่หนาแน่นประมาณ 1 พันหลังคาเรือนนั้น แน่นหนาเกินกว่าจะเป็นแค่บ้านตำบลธรรมดาได้ แต่ความจริงก็คือ “หนองขาว” ยังคงเป็นตำบล แต่เป็นตำบลที่ยังมีความเป็นชุมชนหลงเหลืออยู่อย่างน่าสนใจ
มิใช่แต่เพียงขนาดหมู่บ้านที่มองเห็นว่าใหญ่โตเท่ากัน “ความรับท้องถิ่น” จนอาจจะกล่าวได้ว่า ท้องถิ่นนิยมของคนที่นี่ยังปรากฏให้เห็นอยู่ในหลายวาระ หลายเรื่องราว
เมื่อไม่กี่ปีก่อน มีข่าวว่าทางราชการจะรื้ออาคารเรียนหลังเก่าของโรงเรียนวัดอินทาราม ที่ตั้งอยู่ในเขตวัด แล้วสร้างพิพิธภัณฑ์ขึ้นใหม่ทำให้เกิดแรงกระตุ้นแก่บรรดาครูโรงเรียน กำนัน พระสงฆ์ และพ่อค้า ในชุมชน ที่ต้องการจะปกปักรักษาอาคารเรียนหลังเดิมไว้ เพราะคนเก่าแก่หลายคนต่างก็จบการศึกษาจากโรงเรียนนั้นด้วยกันมา จึงไม่ยอมให้มารื้อทุบอาคารสองชั้นเก่าแก่อันสวยงามของตนกันได้ง่าย ๆ อย่างน้อยที่สุดประวัตศาสตร์ของชุมชนก็มีอาคารโรงเรียนโกวิท อินทราทรรวมอยู่ด้วย จะปล่อยให้หลุดมือไปเปล่า ๆ อย่างไรได้
ความสำเร็จของการพิทักษ์รักษาอาคารเรียนหลังเก่านำมาซึ่งการก่อรูปพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นตำบลหนองขาว โดยจะใช้อาคารสองชั้นที่สร้างเสร็จเมื่อปี พ.ศ.2480 หลังดังกล่าว เป็นที่ตั้งแสดงโบราณวัตถุที่ชุมชมรวบรวมขึ้นไว้อยู่แล้ว อย่างไรก็ตาม พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นมิอาจสำเร็จลุล่วงได้ง่าย ๆ เพียงแค่วัตถุสิ่งของที่จัดแสดง สิ่งสำคัญคือ “เรื่องราว” ของชุมชนที่ต้องการนำเสนอผ่านวัตถุต่างหาก
แล้วเรื่องราวของชาวหนองขาวที่ต้องการจะ “เล่า” ให้คนอื่นรับรู้จะเป็นอย่างไร บางทีเรื่องราวเหล่านี้ย่อมต้องการความร่วมมือจากนักวิชาการที่เข้ามาช่วยสนับสนุนด้วยการทำวิจัยเพื่อนำเสนอเรื่องเล่าของชาวหนองขาวอย่างเป็นระบบ มีมิติทางประวัติศาสตร์ สังคม และวิถีชีวิตความคิดความเชื่อของชาวบ้าน เชื่อมโยงกับชุมชนท้องถิ่นใกล้เคียงไปพร้อมกัน ถ้าย้อนไปดูหลักฐานประวัติศาสตร์ จะพบว่า “หนองขาว” ตั้งอยู่บนเส้นทางการค้าขายและการเดินทัพแต่โบราณ รศ.ศรีศักร วัลลิโภคม เมธีวิจัยอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า จากตำแหน่งทางภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมทางวัฒนธรรม จะเห็นว่าท้องถิ่นนี้เคยเป็นส่วนหนึ่งของความเจริญรุ่งเรืองยุคสุวรรณภูมิ อันมี “อู่ทอง” เป็นศูนย์กลางส่วนเส้นทางคมนาคมนั้น พิจารณาจากสภาพภูมิศาสตร์แล้วเชื่อว่าเคยเกี่ยวกับเส้นทางเดินทัพ โดยเฉพาะสงคราม เมื่อครั้งสมเด็จพระนเรศวรมหาราช และเส้นทางติดต่อระหว่างพระนครศรีอยุธยา สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ยังศึกษาได้จากวรรณคดี “ขุนช้าง ขุนแผน” ด้วย
จากสายตาของนักวิชาการที่ลงไปศึกษาพบว่าสิ่งที่โดดเด่นของหนองขาว ที่ไม่เหมือนชุมชนเมืองอื่น คือ ที่นี่ไม่มีศาลเจ้าจีนหรือโรงเจ อย่างไรก็ตาม มีศาลเจ้ากลางชุมชนแห่งหนึ่ง ชาวบ้านเรียกว่า “ศาลพ่อแม่” มีอายุเกือบ 200 ปี มีอิทธิพลแบบจีนเล็กน้อย คือเมื่อคนในหมู่บ้านมีงานมงคลต่าง ๆ จะต้องบอกกล่าวศาลพ่อแม่มิเช่นนั้นจะมีอุปสรรคในการจัดงาน เช่น เปิดเครื่องเสียงไม่ติด ทำขนมจีนไม่เป็นเส้น การบอกศาลก็เพียงแต่ตักหัวข้าว หัวแกง (ข้าวและแกงที่สุกใหม่) ขนมต้ม และเหล้ามาไหว้ในวันสุกดิบ สำหรับลักษณะของศาลพ่อแม่นั้น เป็นปุ่มไม้ขนาดใหญ่มากที่คนรุ่นปู่ย่าตายายของชุมชนนี้พบจากในป่าแล้วเชื่อว่าเป็นไม้เทวดาที่กำหนดให้นำมาไว้บูชาในชุมชน
ถึงแม้ขณะนี้พิพิธภัณฑ์หนองขาวยังอยู่ในขั้นตระเตรียมการจัดแสดง จะเริ่มปิดบางส่วนในช่วงสงกรานต์ โดยแบ่งส่วนแสดงไว้หลายหัวข้อ เช่น ข้อมูลโบราณคดี เส้นทางเดินทัพโบราณ ความเป็นท้องถิ่นหนองขาวให้เห็นสภาพแวดล้อมของสังคมชาวนา อธิบายวิถีชีวิตความเป็นคน “ใจกล้า นักเลง มีหัวข้อ “ผู้หญิงหนองขาว” ที่มีความโดดเด่นในการทำงานมาตั้งแต่อดีต เป็นต้น แต่ถ้าใครต้องการจะเข้าไปเที่ยวชมหมู่บ้านหนองขาวก็สามารถจะแวะไปได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงเทศกาล
เดินผ่านเข้าไปในหมู่บ้านจะรู้สึกเสมือนย้อนยุคเข้าสู่บรรยากาศราว 50 ปีก่อน เพราะลักษณะอาคารบ้านเรือนหลายหลังยังไม่ถูกทำลายลง ยกเว้นแต่ว่ากาลเวลาจะค่อย ๆ กลืนกิน อย่างเช่น อาคารสุขศาลาหลังเก่าแม้จะดุทรุดโทรม แต่ชาวบ้านก็คิดว่าจะต้องซ่อมแซมแน่นนอน หรือแม้แต่เรือนแถวไม้สองชั้นแบบเท่าที่เคยเป็นห้องแถวการค้าของคนจีน ณ ปัจจุบันก็ยังรักษาไว้เป็นบ้านเช่าอยู่ได้ นอกจากนี้ ก็ยังมีบ้านของหมอกลางบ้านสมัยก่อนที่เคยใช้เป็นสถานที่รักษาคนไข้ในหมู่บ้าน ยังมีเครื่องบดยาเก็บไว้อยู่ ถึงแม้วันนี้ยังไม่ได้เปิดให้ดู แต่ก็อยู่ในโครงการอนุรักษ์ของชมชนเช่นกัน
จะเห็นว่า ความเป็นพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของหนองขาวนั้น ถึงแม่นิทรรศการจัดแสดงจะยังไม่เรียบร้อยดี แต่ผู้คนที่สนใจใครจะรู้เรื่องราววิถีชีวิตผู้คนบ้านอื่นก็สามารถจะแวะไปเยี่ยมเยือนชุมชนดังกล่าวได้ โดยไม่ต้องรอว่าเรื่องราวในห้องสี่เหลี่ยมของพิพิธภัณฑ์จะเสร็จสมบูรณ์เม่อไร เพราะวันนี้ “หนองขาว” มีเรื่องราวที่พร้อมจะบอกเล่าแก่คนต่างถิ่นอย่างน่าภาค ภูมิใจอยู่แล้ว
|
|
|