1. ประเพณีการเกิด
จากการพูดคุยกับผู้อาวุโสที่มีอายุกว่า 60 ปี ได้เล่าให้ฟังว่าสมัยก่อนเวลาคลอดบุตรต้องอาศัยหมอตำแย เนื่องจากการแพทย์ยังไม่เจริญ ผู้ที่เป็นหมอตำแยสมัยนั้นก็มีอาชีพทำนาเช่นเดียวกับชาวบ้านคนอื่น ๆ แต่ได้รับการยอมรับและความไว้วางใจในฝีมือการทำคลอดจากชาวบ้านส่วนใหญ่
ช่องก่อนคลอด ผู้หญิงหนองขาวยังคงทำงานตามปกติ จะหยุดทำงานเมื่อท้องแก่ใกล้คลอด บ้านใดมีหญิงท้องแก่จะต้องไปบอกกล่าวหมอตำแยให้เตรียมตัวมาทำคลอดให้ไว้ล่วงหน้า ในช่วงก่อนคลอดนี้ชาวบ้านห้ามหญิงที่ตั้งท้องกินของดอง ของร้อน และของเผ็ดมากเกินไป ห้ามนั่งขวางบันได เพราะเชื่อว่าจะทำให้คลอดยาก
อุปกรณ์ที่จำเป็นจะต้องใช้ในการทำคลอดและการอยู่ไฟหลังคลอด ได้แก่ ไม้สะแกหรือไม้มะขาม สำหรับใช้ในวันคลอดและระหว่างอยู่ไฟ ยันต์หรือหนังวัวหนังควายฟั่นเป็นเชือกใช้เป็นเครื่องราง ล้อเกวียนสำหรับกั้นประตูเพื่อกันไม่ให้ผีเข้ามาในห้องที่ทำคลอด หม้อดินสำหรับใส่รก เครื่องขวัญได้แก่ ข้าวสาร พานหมาก 7 พลู ด้วย 1 ขิด เงิน 6 สลึง สำหรับหมอตำแยบูชาครู และไม้รวกสำหรับตัดสายรก
เมื่อถึงวันคลอดจะต้องติดยันต์และเครื่องรางต่าง ๆ ไว้รอบห้องที่ทำคลอด นำล้อเกวียนมาวางไว้ระหว่างประตูเพื่อกันผี และต้องปลดกลอนประตูหน้าต่างทุกบานในบ้าน เพราะเชื่อว่าจะทำให้คลอดได้สะดวก หมอตำแยจะทำคลอด โดยมีผู้หญิงอีกคนหนึ่งเป็นผู้ช่วย เริ่มจากการตั้งขวัญบูชาครู จากนั้นจึงจะทำคลอดโดยให้ผู้คลอดนั่งเหยียดขา เอาหลังพิงหมอนหรือไม้มะขามที่เตรียมไว้ เมื่อถึงเวลาคลอดพ่อบ้านก็จะสาดน้ำเข้ากองไฟแล้วผลักให้ล้มลงพอดีกับที่คลอด เมื่อคลอดแล้วหมอตำแยก็จะตัดสายรกด้วยไม้รวก นำทารกใส่กระด้ง นำรกใส่หม้อดินแล้วเอาไปฝังไว้ที่ใต้บันไดหรือใต้ต้นไม้เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กไม่เที่ยวไม่ซน จากนั้นก็จะมีการร่อนกระด้งโดยหมอตำแยจะนำเด็กใส่กระด้งแล้วค่อย ๆร่อน ขณะที่ร่อนก็ร้องว่า “สามวันลูกผีสี่วันลูกคน” ทำเช่นนี้จนครบ 3 ครั้ง เมื่อครบแล้วแม่ของเด็กก็จะร้องบอกว่า “ลูกกู” เพื่อรับว่าเด็กคนนี้เป็นลูกของตนจากนั้นจะนำสมุดดินสอมาวางไว้ข้าง ๆ ทารก เพราะเชื่อว่าจะทำให้เด็กเรียนหนังสือเก่ง
(เพิ่มเติม…)